วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552

วิธีการปลูกมะยงชิด

     

มะปรางหวาน-มะยงชิด เป็นไม้ผลพื้นเมืองของไทยอีกชนิดหนึ่งที่น่าจับตามอง เนื่องจากเป็นผลไม้ยอดนิยม เป็นที่ต้องการสูงทั้งตลาดในประเทศและ ต่างประเทศ แถมมีราคาจำหน่ายค่อนข้างแพง แต่มีข้อจำกัดก็คือ เป็นไม้ผลที่ออกตามฤดูกาล และมีพื้นที่การปลูกค่อนข้างน้อย หลายคนอาจจะสงสัยว่า มะปรางหวานกับมะยงชิด คือไม้ผลชนิดเดียวกันหรือเปล่า หากจะสังเกตความแตกต่างกัน ดูได้จากตรงไหน คำตอบที่ได้จาก เกษตรกรผู้รู้มาก็คือ มะปรางหวาน-มะยงชิด เป็นไม้ผลชนิดเดียวกัน แต่แตกต่างในเรื่องสายพันธุ์ และการเรียกชื่อ มะปรางหวาน-มะยงชิด ในแต่ละ ท้องถิ่น ชาวนครนายก เรียกผลไม้ชนิดนี้ว่า "มะยงชิด" มาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่าแล้ว ชื่อมะยงชิด เป็นการเรียกตามสายพันธุ์ ตามลักษณะผล ที่มีขนาดใหญ่ รส ชาติหวานอร่อย จังหวัดนครนายก ถือเป็นแหล่งปลูกมะปรางหวาน-มะยงชิด ที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก โดยคาดว่าแหล่งนี้ปลูกมะปราง หวาน-มะยงชิด มานานกว่า 150 ปีแล้ว เพราะปัจจุบันยังมีต้นมะปรางพันธุ์พื้นเมือง อายุตั้งแต่ 100-150 ปี อยู่หลายต้น และยังสามารถเก็บ ผลผลิตได้เรื่อยๆ โดยทั่วไป ชาวนครนายก
แบ่งมะปรางออกเป็น 4 ชนิด คือ
 1. มะยง รสชาติออกหวานอมเปรี้ยวนิดๆ พวกแม่ค้าจะเรียกว่า มะยงชิดนั่นแหละ
 2. มะปรางหวาน 
3. มะปรางกาวาง คือมะปรางขนาดผลเล็กที่มีรสชาติเปรี้ยวมาก ไม่นิยมรับประทาน แต่นำไปเป็นวัตถุดิบผสมกับมะเขือเทศ เพื่อแต่งกลิ่นและรส ชาติให้เป็นซอสมะเขือเทศวางขายในท้องตลาดทั่วไป 4. มะปรางป่า ผลมีขนาดเล็กมาก ลักษณะใบยาวแหลม ผลที่ออกมาจะมีรสชาติที่เปรี้ยวจัด ไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค เป็นมะปรางอีกชนิดที่คาดว่า สูญพันธุ์ไปแล้ว ตำบลท่าช้าง ตำบลดงละคร ต.ดอนยอ ต.บ้านนา ต.สาริกา ถือเป็นแหล่งสำคัญที่มีการปลูกมะปรางหวาน-มะยงชิด ในจังหวัดนครนายก แต่ละปีพ่อ ค้าแม่ค้าจากทั่วทุกสารทิศ รวมทั้งพ่อค้าจากจังหวัดอื่น ก็จะมารับซื้อผลไม้จนถึงสวน แต่ก็มีไม่มาก เพราะนครนายกเป็นแหล่งมะปรางหวาน มะยงชิดที่ขึ้นชื่อเรื่องของรสชาดที่ไม่เคยแพ้จังหวัดอื่นๆ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมะปรางหวาน-มะยงชิด เป็นกอบเป็นกำ บางรายรับทรัพย์เป็นหลักล้านบาททีเดียว มะยงชิดที่พ่อค้า แม่ค้า เช่น ตลาดไทย ขายอยู่ทั่วไปจึงมาจากจังหวัดอื่นๆ มีราคาต่ำกว่าราคาขายมะยงชิด มะปรางหวานของจังหวัดนครนายก เหตุนี้ก็เพราะชาวสวนนครนายกมีการดูแลผลผลิต พัฒนาสายพันธุ์ให้มีรสชาดที่แตกต่าง ผลผลิตผลใหญ่ สีสันสดใส หวานกรอบ เมื่อใครได้ทานก็ต้องติดใจในรสชาด ต้องกลับมาหาซื้อ เรียกว่าเป็นผลไม้ที่หายาก เพราะมีราคาแพง นิยมนำไปเป็นของฝาก เรียกได้ว่า คนซื้อไม่ได้ทาน "คนทานไม่ได้ซื้อ"

  มะยงชิด มะปรางหวานของสวนที่นครนายก เนื่องจากคุณปู่ของผม เป็นเกษตรกรผู้ปลูกมะปรางหวานมานาน รู้จักเคล็ดลับการปลูกมะปรางแบบง่ายๆ ให้ได้ผลผลิตที่ดี โดยไม่ต้องพึ่งพาการใช้สารเคมีใดๆมากมาย เพื่อให้ได้ผลผลิตดกเต็มต้น ความจริงการปลูกมะปรางหวาน-มะยงชิด ใครๆ ก็ทำได้ ควรเลือกใช้ต้นพันธุ์ของมะปรางหรือกิ่งพันธุ์ที่จะนำมา ปลูกต้องผ่านการชำมา แล้วอย่าง 3 เดือน เพื่อให้ติดราก วิธีปลูกมะยงชิด ในการขุดหลุมปลูก อย่าขุดหลุมลึกมาก เพราะอาจทำให้รากเน่าตายได้ เมื่อปลูกเสร็จก็กลบดินให้แน่น ระยะแรกของการปลูกมะปรางไม่ควรใส่ปุ๋ย แต่ควรคลุมโคนต้นมะปรางด้วยฟางข้าว พอปลูกเสร็จแล้วก็นำไม้มาปักมัดเชือกให้แน่น เพื่อป้องกันลำต้นของมะปรางโยกคอน เมื่อปลูกไปได้ประมาณ 6 เดือน หรือ 1 ปี ให้นำเอาขี้วัวแห้งใส่บริเวณรอบโคนต้นมะปราง แล้วนำเอาสแรนมากันแดดให้ร่มเงา ไม่ให้ต้นโดนแดดแรงจัดเกินไป ปล่อยเอาไว้ประมาณ 6 เดือน หรือ 1 ปี หลังจากนั้นให้คอยดูแล จัดการสวนมะยงชิดให้ดี ระวังอย่ารดน้ำมากจนชื้นแฉะ เพราะต้นมะปรางหวาน อาจโคนเน่าตายได้ หลังจากปลูกมะยงชิด หรือมะปรางหวานแล้ว ควรปลูกไม้ชนิดอื่นๆ ร่วมแปลงด้วย เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมทอง เพื่อจะได้มีรายได้เสริม จนกว่าต้นมะยงชิดหรือมะปรางหวาน จะให้ผลผลิตภายใน 2-3 ปี ข้างหน้า 
         สำหรับการดูแลรักษาต้นมะปรางหวาน-มะยงชิด ให้มีผลผลิตที่ดี จะไม่เน้นใส่ปุ๋ย และควรให้น้ำ 1 ครั้ง ต่อสัปดาห์เท่านั้น เนื่องจากต้นมะยงชิด-มะปรางหวาน เป็นพืชที่ไม่ชอบความชื้นแฉะ จึงควรให้น้ำปริมาณแต่พอประมาณ ต้น มะปรางหวาน-มะยงชิด จะเริ่มแตกใบอ่อน เมื่อมีอ ายุประมาณ 6 เดือน ช่วงนี้ก็มีปัญหาศัตรูพืชประเภทหนอนมาคอยรบกวนบ้าง จึงต้องคอยดูแลเป็นพิเศษ พวกหนอนมักจะกัดกินใบ ควรแก้ไขโดยใช้ยา ก็ใช้ยามาฉีดพ่นบ้าง ในช่วงเย็น หรือช่วงเวลาใดก็ได้ที่แสงแดดไม่จัด พอต้นมะปรางมีอายุได้ประมาณ 2 ปี ก็จะเริ่มติดผล แต่ขนาดผลยังไม่ใหญ่มาก ต้องรอให้ต้นมะปรางมีอายุตั้งแต่ 3-7 ปี ขึ้นไปก่อนจึงจะได้ขนาดผลใหญ่เท่ากับต้นแม่พันธุ์ และให้ผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเทคนิคการจัดการเป็นสำคัญ ระยะที่ต้นมะปรางติดช่อ มักจะเกิดปัญหาเชื้อราหรือโรคราน้ำค้างรบกวนควรป้องกันโดยใช้ ยาฆ่าเชื้อรา มาฉีดพ่น 
        หากเจอปัญหาเพลี้ยไฟ ก็ควรใช้ไดเมธโธเอท คาร์โบซัลแฟน จะฉีดพ่นด้วย สำหรับระยะที่ต้นมะปรางติดผลขนาดเท่าหัวไม้ขีดไฟ ก็ควรฉีดพ่น "แคลเซียมโบรอน" เพื่อให้ ขั้วของมะปรางเหนียว ไม่หลุดร่วงง่าย หากไม่ใส่ปุ๋ยเลย 
        ลูกมะปรางจะหวานได้อย่างไร คำตอบก็คือปล่อยให้ผลสุกแก่เต็มที่ ผลมะปรางก็จะมีรสหวานเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่ครับ ผมล้อเล่น สวนเราใส่ปุ๋ยหวานน้ำหมักแบบป้าเฉ่ง แต่เราใช้ผลไม้สุกแทนครับ ผลผลิตมะปรางจะให้รสชาติหวานยิ่งขึ้น หากปลูกมะปรางหวานก็จะได้รสชาติหวานสนิท ถ้าปลูกมะปรางพันธุ์หวานอมเปรี้ยวก็จะได้ผลผลิตที่มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว นิดๆ เช่นกัน ส่วนขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลผลิต สังเกตว่าผลมะปรางครบอายุควรเก็บได้หรือยัง ก็ทำได้ง่ายๆ เพียงดูที่สีผิวของผล และให้ดูจากขั้วของผลมะปราง หากพบว่าขั้วและผิวของมะปรางมีสีผิวสีเหลือง หรือที่ผิวของผลมะยงชิดจะคล้ายๆ กับสีออกน้ำตาลเป็นจุดๆ เหมือนจุดน้ำตาล ก็มั่นใจได้เลยว่า ครบอายุการเก็บเกี่ยวแล้วปัจจุบัน ภาวะราคาซื้อขายมะปรางหวาน-มะยงชิด ถือได้ว่า ค่อนข้างแพงโขอยู่ ทั่วไปมีราคาซื้อขายอยู่ที่ 200 บาท ต่อกิโลกรัม ถ้าพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงสวน ราคาก็จะต่อรองกันได้ โดยทั่วไปแบ่งการขายดังนี้คือ ผลขนาดใหญ่มากๆก็ ตั้งแต่ 9-10 ผล ต่อกิโลกรัม ขนาดผลย่อม ตั้งแต่ 15 ผล ต่อกิโลกรัม ราคาใกล้เคียงกันนั่นแหละครับ สวนนิยม-รัตนา อยู่บ้านเลข ที่ 66/2 หมู่1 ตำบลท่าช้าง อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก 
           พื้นที่ในการทำการเกษตรเชิงท่องเที่ยว และให้ความรู้เรื่องการปลูกมะยงชิดมะปรางหวาน และผลไม้พื้นบ้าน ทำงานประจำควบคู่กับงานการเกษตร เมื่อผลผลิตขายได้ดีจนเกินคาด จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างระบบการผลิตการ เกษตร (คปร.) กับสำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายก และ ธกส. โดยจัดทำแผนการผลิต และขอกู้เงินจาก ธกส.เพื่อการลงทุนเพิ่ม และปรับพื้นที่นา ปลูกมะปรางหวาน มะยงชิด และเริ่มขยายพันธ์มะยงชิด มะปรางหวานเพิ่มขึ้นจนถึง ปัจจุบันนี้ สวนมะยงชิดมะปรางแห่งนี้ มีต้นมะปรางหวานและมะยงชิดประมาณกว่า 300 ต้น มีผล ผลิตประมาณปีละ 2 ตัน ซึ่งขณะนี้ได้พัฒนาสวนมะปรางหวาน มะยงชิด ให้เป็น แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อให้บริการความรู้เกี่ยวกับการปลูก การดูแล รักษามะปรางหวานมะยงชิด แก่ผู้ที่สนใจทำให้ทุกวันนี้สวนแห่งนี้มีราย ได้จากการขายมะยงชิด มะปรางหวาน และยังยินดีที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวมาเก็บผลไม้ชิมและซื้อหาได้ที่สวน และจำหน่ายกิ่งพันธุ์มะปรางหวาน มะยงชิดได้มากพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งผลผลิตและกิ่งพันธุ์มะยงชิด มะปรางหวานของที่นี่ ไม่จำเป็นต้อง นำไปจำหน่ายที่อื่น เรียกได้ว่าไม่พอจำหน่ายกันเลยทีเดียว ซึ่งในปีนี้มะปรางหวาน มะยงชิดของที่นี้จะเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป สวนของเราจะเน้นทำการเกษตรแบบผสมผสาน เป็นเกษตรทฤษฎี ใหม่ ผลิตน้ำหมักชีวภาพ และฮอร์โมนบำรุงพืชต่างๆ เร่งการเจริญเติบโต จัดระบบสวน ระบบน้ำ ศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ บ่อ เลี้ยงปลา และศูนย์ท่องเที่ยวเชิงเกษตรการทำการเกษตรตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่เน้นในเรื่องไม้ผลที่เป็นที่นิยมของจังหวัดนครนายก โดยการปลูกไม้ผลของนั้นจะเน้นการปลูกมะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้า (พันธุ์ดี)
         ส่วนบริเวณอื่นๆก็จะมีการเลี้ยงปลา ปลูกไม้พันธ์ต่างๆ เช่น กระท้อน มะไฟ ขนุน เงาะ มีบ่อเป็นบ่อรอบๆ ทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปีอีกทั้งหลังจากที่มีการสร้างเขื่อนนครนายกก็ทำให้พื้นที่บริเวณนี้ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมแล้วทั้งที่เป็นที่ลุ่มสร้างความสะดวกสบายให้กับเกษตรกรในพื้นที่เป็นอย่างมาก วิธีการปลูก
มะยงชิด มะปรางหวาน
         โดยธรรมชาติมะยงชิดไม่ชอบสภาพชื้นแฉะน้ำท่วมขังถ้าเป็นที่ต่ำควรยกร่อง เพื่อระบายน้ำ ส่วนที่มีกรดด่าง ดินเหนียวหรือมีกรวดมีหินมากจนเกินไป ควรต้องปรับปรุงดินก่อน เพื่อให้เกิดสภาพความเหมาะสมต่อการเพาะปลูกต้นมะยงชิด 

1.ควรจัดระยะการปลูกแต่ละต้นห่างกัน 4x4 เมตรอย่างน้อย 
2.ขุดหลุมลึก 50 ซม.กว้าง 50 ซม. ยาว 50 ซม. 
3.เตรียมแกลบดิบ ปุ๋ยคอก อย่างละหนึ่งบุ้งกี๊ 
4.นำสิ่งที่เตรียมผสมให้เข้ากันกับดินที่ขุดในหลุม และไม่แนะนำให้ใช้ปุ๋ยเคมีในการปลูกใหม่ 
5.นำกิ่งพันธุ์ลงปลูกโดยแกะถุงพลาสติกออกระวังอย่างให้ดินในถุงแตก กลบดินเท่ากับรอยดินในถุงเดิมและอย่าลืมแกะพลาสติกตรงที่พันรอยทาบออกด้วย 
6.ปักไม้ค้ำยันกันลมโยกต้น (อย่าปักใกล้โคนต้น) 7.ถ้าปลูกในช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนจัด ให้หาหญ้าแห้งคลุมโคนต้น และจัดทำร่มเงาพรางแสงแดดให้ต้นไม้ด้วย 8.ไม่แนะนำปลูกไม้ยืนต้นชนิดอื่นใดเพื่อต้องการร่มเงาไว้ใกล้ๆ หรือถ้าจะปลูก ต้นกล้วยปลูกได้แต่ควรห่างจากต้นมะยงชิด ประมาณ 1-2 เมตร 9.รดน้ำให้เปียกโชก หลังจากที่ปลูกเสร็จ 
       สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกมะยงชิด มะปราง 
          เรื่องของการให้น้ำและความชื้นที่เหมาะสม แหล่งที่จะปลูกมะยงชิด มะปรางเป็นการค้านั้น ควรมีฤดูฝนสลับกับฤดูแล้ง (หนาวและร้อน) อย่างประเทศไทยของเรา ที่สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศ เพราะในช่วงแล้งเป็นช่วงที่ช่วยให้มะปรางมีการพักตัว ชะงักการเจริญเติบโตทางใบและกิ่ง และช่วงดังกล่าวถ้ามีอุณหภูมิต่ำจะช่วยในมะปรางมีการออกดอกและติดผลดี 
            วิธีการการปลูกมะปรางและวิธีการปลูกมะยงชิด ควรเลือกพื้นที่ที่มีน้ำเพียงพอ เพราะในระยะที่มีการออกดอกและติดผลนั้นเป็นช่วงที่มีผลน้อยคือในเดือน พฤศจิกายน ถึงเดือนมีนาคม ซึ่งช่วงดังกล่าวต้นมะปรางต้องการน้ำในการเจริญเติบโตของผล และถ้าขาดจะน้ำทำให้ผลมีขนาดเล็ก ผลมะยงชิดร่วงและให้ผลผลิตต่ำ -เรื่องของอุณหภูมิในการปลูกมะยงชิดก็สำคัญ อุณหภูมิเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการมีช่อดอก การติดผล และระยะเวลาการสุกของผลมะยงชิด มะปราง แหล่งปลูกมะยงชิด มะปรางที่ได้ผลดีนั้น ควรมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยตลอดปีอยู่ในช่วง 20-30 องศาเซลเซียส อย่างเช่น จ.นครนายกจะปลูกได้ผลดีที่สุด จงเป็นแหล่งปลูกและมีกิ่งพันธ์ที่ขึ้นชื่อ แต่จังหวัดอื่นๆ ก็สามารถที่จะปลูกได้เช่นกัน -แสง มะปรางเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ทั้งที่มีแสงแดดรำไร จนถึงแสงแดดกลางแจ้ง -ความสูงและเส้นละติจูด                 มะปรางและมะยงชิด เป็นไม้ผลที่สามารถเจริญเติบโตได้ในความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงความสูง ระดับ 1000 เมตร แต่ความสูงที่เหมาะสมในการปลูกมะปรางนั้น ไม่ควรสูงเกิน 600 เมตร ซึ่งถ้าสูงเกินมะยงชิด มะปรางจะไม่ออกดอก ให้ผลผลิตต่ำ 
            นอกจากนี้ความสูงของพื้นที่มีอิทธิพลต่อระยะเวลาการออกดอกของมะปราง คือทุก ๆ ความสูง 130 เมตร มะยงชิด มะปรางจะออกดอกช้าไป 4 วัน -ดิน มะปราง มะยงชิดสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพดินหลายชนิด แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด ควรเป็นดินร่วนที่อุดมสมบูรณ์ มีหน้าดินลึก มีความเป็นกรด-ด่างอยู่ระหว่าง 5.5-7.5 
       การขุดหลุมหลังจากเตรียมพื้นที่แล้ว ให้ขุดหลุมกว้าง 50 เซนติเมตร ลึก 1 ฟุต (1 ศอก) หรือใหญ่กว่าเล็กน้อยตามขนาดของกิ่งพันธุ์มะยงชิด มะปรางหวานที่จะปลูก แยกดินเป็น 2 ส่วน ชั้นบนและชั้นล่าง ตากดินไว้ 1 วัน จากนั้นนำปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกมาใส่ในหลุมพอประมาณผสมให้เข้ากัน -ระยะปลูก ในพื้นที่ราบหรือที่ดอน ควรใช้ระยะห่างระหว่างต้น 8 เมตร ระหว่างแถว 8 เมตร หรือปลูกแถวชิดระยะ 4 เมตร และแถว 4 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ระยะ 8X8 เมตร จะปลูกมะปรางได้ 25 ต้น ระยะชิด 4X4 เมตร จะต้องใช้ต้นพันธุ์ 50 ต้นต่อไร่ ส่วนการปลูกสวนยกร่อง ควรใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 6 เมตร ระหว่างแถว 6 เมตร ปลูกแถวเดี่ยวใน 1 ไร่ปลูกได้ 45 ต้นหรืออาจได้มากกว่านั้น 
        การเตรียมต้นพันธุ์มะยงชิด มะปรางหวาน ต้นพันธุ์มะยงชิด มะปรางหวานควรมีลักษณะแข็งแรง สมบูรณ์ ไม่มีโรคแมลงรบกวน และมีการชำอยู่ในถุงพลาสติกสีดำ หรืออยู่ในวัสดุเพาะชำอย่างน้อย 2-3 เดือน 
        การเริ่มปลูกมะยงชิด มะปรางหวาน ฤดูที่เหมาะสมที่สุดในการปลูกมะปรางควรปลูกต้นฤดูฝน ส่วนเวลาปลูกนั้น ควรปลูกในตอนเช้าหรือตอนเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อน วิธีปลูกให้นำกิ่งต้นพันธ์วางปากหลุม ถ้าเป็นกิ่งทาบควรใช้มีดกรีดพลาสติกที่พันโคนต้นออก แต่ถ้าเป็นกิ่งพันธุ์ที่ชำอยู่ในถุงพลาสติกสีดำ ใช้มีดกรีดด้านข้างก้นถุงโดยรอบ ก้นถุงพลาสติกจะหลุดออก ต่อจากนั้นยกต้นมะปรางไปปลูกลงหลุม กลบดินลงหลุมเล็กน้อย แล้วดึงถุงดำที่เหลือขึ้นมา ใช้มีดตัดออก กลบดินปลูกลงหลุมให้สูงกว่าระดับเดิมเล็กน้อย ใช้มือกดรอบ ๆ โคนต้นให้แน่น นำหลักไม้ไผ่มาปักโคนต้น ผูกต้นมะปรางกับหลักเพื่อกันลมโยก หลังจากนั้นรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ อาจมีร่มรำไร เช่นการปลูกต้นกล้วยเป็นร่มเงา หรือใช้ทำร่มโดยใช้สแรนทำร่มให้ก็ได้ถ้าต้นกล้วยโตช้า ไม่ทันให้ร่มเงาแก่มะยงชิด มะปรางหวาน 
        การปฏิบัติดูแลรักษาต้นมะยงชิด มะปรางหวาน วิธีในการปลูกมะปรางเพื่อการค้า ผู้ปลูกควรปฏิบัติดูแลรักษาต้นมะยงชิด ต้นมะปรางดังต่อไปนี้ 

1.การให้น้ำ โดยปกติมะยงชิด มะปรางเป็นไม้ผลที่ค่อนข้างทนทานต่อความแห้งแล้ง แต่ถ้ามะยงชิด มะปรางขาดน้ำก็จะไม่มีการแตกยอดใหม่ ทำให้มะยงชิด มะปรางชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการใช้น้ำ ในระยะแรกปลูก 2-3 เดือน ควรมีการให้น้ำให้ชุ่มอยู่เสมอเฉลี่ย 3-5 วันต่อครั้ง อายุ 3-6 เดือน ให้น้ำ 7-10 วันต่อครั้ง เว้นแต่ช่วงฝนตกงดการให้น้ำมะปรางที่อายุ 1 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง ควรมีการรดน้ำ 15-20 วันต่อครั้ง ประเภทของน้ำที่ใช้กับต้นมะปรางนั้น น้ำที่ได้มาจากแม่น้ำ, ลำคลอง, หนอง, บึง เมื่อนำมารดจะได้ประโยชน์มากกว่าน้ำบาดาล เพราะมีแร่ธาตุอาหารปนมาด้วย โดยปกติแล้วน้ำที่จะนำมารดให้กับต้นมะปราง ควรมีค่า pH 6.5-7.0 กล่าวคือควรมีสภาพเป็นกลาง 

2.การใส่ปุ๋ย มะปรางขึ้นได้ในดินหลายชนิดทั้งดินเหนียว ดินร่วน และดินร่วนปนทราย ถ้าปลูกมะปรางในแหล่งอุดมสมบูรณ์สูง มีธาตุอาหารอย่างพอเพียง ต้นมะปรางจะเจริญได้ดี ปัจจุบันแหล่งดินที่อุดมสมบูรณ์หายาก วิธีที่จะปรับปรุงคุณภาพของดินคือการใส่ปุ๋ยบำรุงดิน ในการใส่ปุ๋ยให้ใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยหมักเป็นหลัก ใช้ปุ๋ยเคมีเป็นรองโดยถือว่า

 1.ระยะพืชกำลังเจริญเติบโตควรใช้ปุ๋ยที่มี N-P-K ในสัดส่วน 1:1:1 เช่นปุ๋ยเกรด 15-15-15 เพื่อเสริมสร้างและทดแทนส่วนที่พืชนำไปใช้ในการแตกยอด ใบ กิ่งก้าน 
2.ระยะใกล้ออกดอก ควรใช้ปุ๋ยที่มีสัดส่วนของฟอสฟอรัสสูง เช่นปุ๋ยเกรด 8-24-24 3.ระยะที่พืชติดผลแล้ว ให้ใช้ปุ๋ยที่มีธาตุโปแตสเซียม เช่นปุ๋ยเกรด 13-13-21 หรือ 12-17-2 เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต
 3.การพรวนดินและคลุมโคนต้น ควรหาฟางข้าวหรือเศษหญ้ามาคลุมบริเวณโคนต้นที่ทำการพรวนดินเพื่อรักษาความชื้น การพรวนดินรอบ ๆ โคนต้นควรทำทุกปี ปีละ 3 ครั้ง คือช่วงต้นฝน ปลายฤดูฝน(ต้นฤดูหนาว) และฤดูร้อน ถ้าเป็นไปได้การพรวนดินและคลุมโคนต้นนั้นควรทำพร้อม ๆ กันกับการใส่ปุ๋ย 
4.การกำจัดวัชพืช วิธีป้องกันกำจัดวัชพืชดำเนินการได้หลายวิธี ได้แก่ การถากหญ้ารอบโคนต้น การใช้มีดฟันหญ้า การใช้เครื่องตัดหญ้า การใช้สารเคมีคลุมวัชพืชหรือฆ่าวัชพืช 
5.การพรางแสง มะปรางขึ้นได้ทั้งในที่มีแดดรำไรและในแสงแดดจ้า แต่การปลูกในที่พรางแสง จะมีการเจริญเติบโตได้ดีกว่าการปลุกกลางแจ้ง ฉะนั้นการสร้างสวนมะปรางเพื่อการค้า ในระยะ 1-3 ปีแรก ควรมีการปลุกกล้วยเป็นพืชแซม 
6.การตัดแต่งกิ่ง ควรมีการตัดแต่งกิ่งมะปราง กิ่งที่หัก กิ่งที่เป็นโรค หรือกิ่งที่แห้งตายออกทุกปีด้วย 
7.การตัดแต่งผล มะยงชิด มะปรางที่มีการออกดอกเป็นช่อยาว 8-15 เซนติเมตร ในช่อหนึ่งอาจติดผลตั้งแต่ 1-5 ผล ควรมีการตัดแต่งผลมะปรางที่มากเกินไปออก เหลือช่อละ 1 ผล 
8.การห่อผล วิธีห่อผล ใช้กระดาษสีขาว พับเป็นถุงเล็ก ๆ นำไปห่อมะปรางตั้งแต่ผลยังเขียว การห่อผลจะต้องทำด้วยความระมัดระวัง 
9.การเก็บเกี่ยว ในการเก็บเกี่ยวมะปรางแต่ละครั้ง ไม่ว่าผลแก่หรือผลอ่อน ควรเก็บเกี่ยวด้วยความระมัดระวัง ถ้าไม่ระวังผลมะปรางอาจจะกระทบกระเทือน ผลจะช้ำ วิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตมะปรางหวาน ถ้าต้นไม่สูงควรใช้กระดาษตัดเป็นฝอยปูรองก้นตะกร้าใส่มะปราง แล้วใช้กรรไกรตัดขั้วผล นำมะปรางมาใส่ ถ้าต้นสูงเกินไป ควรใช้บันไดปีน หรือใช้ตะกร้อสอยมะปราง เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จควรนำไปไว้ในที่ร่ม 
10.การบรรจุหีบห่อ ควรเก็บมะยงชิด มะปรางในที่ร่ม ตัดผลที่มีบาดแผล มีจุดดำ หรือเน่าเสียออก ไม่ให้ปะปนกับผลที่ดี การส่มะยงชิด มะปรางหวานไปขายตามแหล่งใหญ่ ควรมีการห่อผลมะปรางด้วยทิชชูหรือตาข่ายโฟม บรรจุกล่องกระดาษ 1-2 กิโลกรัม เพื่อเพิ่มคุณค่าผลไม้
         การขยายพันธุ์มะยงชิด มะปราง มะยงชิด มะปรางหวานเป็นไม้ผลที่เติบโตช้า ขยายพันธุ์ได้ยาก และใช้เวลาขยายพันธุ์ยาวนานกว่าไม้ผลที่สำคัญบางชนิด การขยายพันธุ์ที่นิยมกันมาก การเพาะเมล็ด การขยายพันธุ์วิธีนี้ง่าย และสามารถทำได้จำนวนมาก มีข้อเสียที่มีการกลายพันธุ์ และให้ผลผลิตช้า ประมาณ 7-8 ปี 

อุปกรณ์ที่ใช้เพาะเมล็ดมะยงชิด มะปรางหวาน 
1.เมล็ดพันธุ์มะปรางที่สมบูรณ์ 
2.ถุงพลาสติกสีดำขนาด 4X7 นิ้ว หรือ 5X9 นิ้ว 
3.ดินปลูก ดินร่วนผสมปุ๋ยคอก ขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 3:1:2 
4.บัวรดน้ำ 
5.ผ้าพลาสติกปูพื้น 
6.ปุ๋ยทางใบ 
7.สารเคมีป้องกันแมลง 
8.เครื่องพ่นสารเคมี 

ขั้นตอน
 1.ผสมดินปลูก ดินร่วน 3 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 2 ส่วน 
2.นำผลมะปรางที่จะเพาะล้างเอาเนื้อออก ผึ่งในร่ม ก่อนเพาะควรนำไปจุ่มสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราก่อน การเพาะควรใช้ไม้ไผ่กลมเล็กแทงลึกประมาณ 2-3 เซนติเมตร แล้วนำเม็ดมะปรางมายอดในแนวนอน กลบเมล็ดด้วยดินเพาะ ประมาณ 5-10 วัน เมล็ดจะงอก 
3.เมื่องอกเป็นต้นกล้า ควรมีการรดน้ำ และให้ปุ๋ยทางใบ 


2.การตอนกิ่ง ควรเริ่มทำการตอนกิ่งช่วงต้นฤดูฝน ควรใช้ขุยมะพร้าวหุ้มดีกว่าใช้ดิน เพราะอุ้มน้ำดีกว่า วิธีการตอน
     1.เลือกกิ่งมะยงชิด มะปรางหวานที่เป็นกิ่งเพสลาด คือผิวเปลือกสีน้ำตาลปนเขียว ลักษณะใบต้องสมบูรณ์ไม่เป็นโรค 
    2.ควั่นกิ่งตอน โดยหางจากปลายกิ่ง 40 เซนติเมตร โดยเปิดแผลกว้าง 2-3 เซนติเมตร แกะเปลือกออก ขูดเยื่อเจริญออก อาทิ้งแผลไว้ 7 วัน 3.หุ้มกิ่งตอนด้วยขุยมะพร้าว ให้มิดรอยแผล แล้วเอาผ้าพลาสติกหุ้มต้นตออีกขั้นหนึ่ง จากนั้นเอาเชือกรัดหัวท้ายให้แน่นพอควร 4.ทิ้งไว้ 45-55 วัน ก็จะเกิดราก รอจนรากเดินดี จึงตัดไปชำ 5.ชำกิ่งตอนมะยงชิด มะปรางหวาน ควรทำในที่ร่มรำไร กิ่งตอนควรเลี้ยง 1-2 เดือน จึงนำไปปลูก อย่าลืมเอาถุงพลาสติกออกก่อนที่จะนำกิ่งลงชำ 
    3.การทาบกิ่ง เป็นวิธีขยายพันธุ์มะปราง มะยงชิด ที่เหมาะสมที่สุด เพราะมะปรางมีระบบรากแก้วที่แข็งแรง เหมาะที่ทนสภาพแล้งได้ดี การทาบกิ่งนิยมทาบแบบประกบ คือเฉือนต้นกิ่งพันธุ์ดีเป็นแผลยาว 2-3 นิ้ว เฉือนเข้าเนื้อไม้เล็กน้อยเฉียง 30 องศา ต้นตอใช้วิธีตัดยอดออก เฉือนเป็นปากฉลาม นำต้นตอที่เตรียมไว้ สอดเข้าแผลกิ่งพันธุ์ดี ต้นตอควรได้จาการเพาะเมล็ด อายุต้นตอ 1-2 ปี หรือต้นขนาดหลอดกาแฟ 
     4.การเสียบยอด ควรเปลี่ยนยอดในช่วงฤดูฝน ส่วนฤดูอื่นต้องรดน้ำโคนต้นอยู่เสมอ 

วัสดุอุปกรณ์ 
1.กรรไกรแต่งกิ่ง 
2.มีดตอนที่สะอาด 
3.ผ้าพลาสติกใส 
4.ถุงพลาสติก 5.ต้นมะปราง ต้นเพาะเมล็ดที่ปลูกในสวนอายุ 1-3 ปี 
6.กิ่งหรือยอดพันธ์ดี ที่มีตาที่สมบูรณ์ พร้อมที่จะเป็นยอดใหม่ 
7.สแลนบังแดดขณะต่อยอด 
          วิธีเสียบยอดมะยงชิด มะปรางหวาน 
1.ใช้กรรไกรตัดยอดมะปรางหวาน มะยงชิดพันธุ์ดีที่เราต้องการ มาเปลี่ยนยอดพันธุ์ไม่ดี ที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป ตัดยอดพันธุ์ที่จะต่อยาว 7-15 เซนติเมตร ตัดใบออกให้หมด 
2.เมื่อถึงที่สวน ใช้กรรไกรตัดแต่งกิ่ง ตัดยอดต้นมะปรางที่สมบูรณ์ นำใบมีดโกนที่คมและสะอาดผ่ายอดต้นตอเป็นรูปลิ่ม 2-3 เซนติเมตร
 3.นำยอดพันธุ์ดีของมะปราง ที่จัดเตรียมไว้แล้ว มาตัดยอดเหลือยาว 5-7 เซนติเมตร แล้วใช้ใบมีดโกนที่คมและสะอาด เฉือนกิ่งพันธุ์ดีทั้งสองด้านเป็นรูปปากฉลาม แผลยาว 2-3 เซนติเมตร แล้วนำไปเสียบบนยอดต้นตอ ในแนวเยื่อเจริญ 
4.นำผ้าพลาสติกใสมาพันแผลบริเวณรอยต่อให้สนิท
 5.นำซองพลาสติก หรือซองใส่ยามาคลุมบริเวณที่ต่อยอดมะยงชิด มะปรางหวานให้เลยรอยแผลเล็กน้อยใช้มือรัดปากถุง 
6. หลังจากการเปลี่ยนยอดมะปราง ให้ตัดยอดที่เหลือทิ้งให้หมดเพราะอาหารจะได้มาเลี้ยงยอดใหม่ได้เต็มที่ 
7. หลังจากเปลี่ยนยอดได้ 30 วัน มะปราง มะยงชิดจะมีการแตกใบอ่อนให้เลื่อนปากถุงขึ้นไปข้างบนที่ละน้อยเพื่อให้ยอดมะปรางแทงได้สะดวก และเมื่อเห็นยอดมะปรางปรับตัวเข้ากับอากาศภายนอกได้ดีแล้วให้นำซองยาออกได้

2 ความคิดเห็น:

  1. ถ้าน้ำท่วมโคนต่นสักเดือนนึง..ตนจะตายไหมตรับ

    ตอบลบ
  2. ถ้าน้ำท่วมโคนต่นสักเดือนนึง..ตนจะตายไหมตรับ

    ตอบลบ